จังหวัดแพร่เตรียมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุม โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพื่อป้องกันการเกิดโรค และการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้น โดยจัดทำโครงการฝึกซ้อมแผนเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุม โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระดับจังหวัดรูปแบบการฝึกเฉพาะหน้าที่ ตามนโยบายของรัฐบาล
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า วันนี้ (3 ก.ย.62) ที่หอประชุมตรีเทพ สถาบันประชารัฐพิทักษ์ป่า ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานเปิดโครงการฝึกซ้อมแผนเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระดับจังหวัดรูปแบบการฝึกเฉพาะหน้าที่ (Function Exercise) ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแพร่ ร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่จัดขึ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ทราบมาตรฐานการปฏิบัติงานเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์ แอฟริกาในสุกรที่ถูกต้อง และเพื่อทดสอบและประเมินขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะด้าน รวมทั้งบทบาทที่ใช้ในการเผชิญกับสถานการณ์เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
นายอรรณพ เสือกระจ่าง ปศุสัตว์จังหวัดแพร่ กล่าวว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรที่แพร่กระจายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ถือว่าเป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเป็นอย่างมาก หากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและควบคุมโรคและยิ่งกว่านั้นโรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรงทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบ 100% โดยจากการประเมินมูลค่าความเสียหายหากมีการแพร่ระบาดของโรคนี้ในประเทศไทยจะมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 125,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมความเสียหายทางสังคม เนื่องด้วยมูลค่าความเสียหายมหาศาล ประกอบกับผลกระทบต่อความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงสุกรและความมั่นคงทางอาหารของประชาชน รัฐบาลจึงมีนโยบายให้แผนรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุการณ์ระบาดขณะเกิดการระบาดและภายหลังเกิดการระบาดของโรค
ในการฝึกซ้อมแผนดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติงานการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Warroom) ระดับจังหวัดแพร่ ระดับอำเภอทั้ง 8 อำเภอ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสุกร รวมทั้งสิ้น 111 คน